เงินเฟ้อคืออะไร ทำไมเงินเฟ้อสูงถึงต้องขึ้นดอกเบี้ย?

วันที่ 3 ตุลาคม 2022
  4,025 views

เงินเฟ้อ คือ การวัดว่าราคาของสินค้า (เช่น อาหาร เสื้อผ้า ) และบริการ (เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล) เพิ่มขึ้นเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไป

โดยทั่วไปเราจะวัดเงินเฟ้อโดยการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในวันนี้กับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า สำหรับค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ”

ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แปลว่าราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 3% ตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวสารหนึ่งถุงราคา 100 บาทในปีที่แล้ว และราคาเพิ่มเป็น 103 บาทในปีนี้ แปลว่าราคาเพิ่มขึ้น 3%

อัตราเงินเฟ้อวัดได้อย่างไร

ทุกเดือน กระทรวงพาณิชย์จะเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการ มาคำนวณเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับปีก่อน คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ ธปท. ใช้เป็นเป้าหมาย

เมื่อเงินเฟ้อสูง ทำไมต้องขึ้นดอกเบี้ย

ในยามที่เศรษฐกิจร้อนแรง คนต้องการบริโภคและลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น แต่ถ้ารายได้ยังคงเดิม จะทำให้คนซื้อของได้น้อยลง และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ธปท. มีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์รู้ว่าธปท. ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น โดยธปท. จะดูดซับสภาพคล่องหรือดูดเงินออกจากระบบการเงินเพื่อให้ภาวะการเงินตึงตัว ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะต้องเพิ่มสภาพคล่องของตนเอง โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้นเพื่อระดมเงินฝากมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามต้นทุนเงินฝากที่สูงขึ้น การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นจะจูงใจให้คนมาฝากเงินมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นก็ทำให้คนกู้เงินน้อยลงเมื่อความต้องการสินค้าและบริการลดลง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าลดลง และชะลอเงินเฟ้อ นั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/OverviewInflation.aspx
https://www.bot.or.th/App/FinancialLiteracy/ExchangeRate/01_01_contentdownload_inflation.pdf