หลายๆ คนเมื่อมีรายได้จะกังวลว่า จะต้องยื่นภาษีหรือไม่? จะถือเป็นเงินได้หรือเปล่า? แล้วใครบ้างจะต้องเสียภาษี? บุคคลที่ต้องเสียภาษีตามความหมายทางภาษี มี 4 ประเภท คือ

1. บุคคลธรรมดา คือ บุคคลใดก็ได้ที่มีเงินได้ทั่วๆ ไปทั้งปี มากกว่า 30,000 บาท (กรณีโสด) และ มากกว่า 60,000 บาท (กรณีสมรส) ต้องยื่นแบบ ภงด. ส่วนกรณีที่มีรายได้จากเงินเดือน (เฉพาะเงินได้ตาม ม.40(1)) ตั้งแต่ 4,167 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือ ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และ ตั้งแต่ 8,334 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือ ตั้งแต่ 100,000 บาท (กรณีสมรส) ถือว่ามีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภงด. ถึงแม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม

2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กล่าวคือ กรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในปีภาษีนั้น ทายาทหรือ ผู้จัดการมรดก มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด. ตามเงินได้ทั้งปีภาษี ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. มีบ้านให้เช่า (มีรายได้จากค่าเช่า) โดยเซ็นสัญญาเช่าไว้ทั้งปี 2554 ต่อมาในเดือน พ.ค. 54 นาย ก. ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 55 ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนาย ก. จะมีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด. โดยประเมินเงินได้ทั้งปีภาษี 2554 (ม.ค.-ธ.ค. 54)

3. กองมรดก กล่าวคือ เป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในปีภาษีก่อนหน้า และยังไม่ได้จัดการมรดก ดังนั้น ในปีภาษีนี้จะต้องยื่นแบบในนาม กองมรดกของ นาย ก. และนำเงินได้ทั้งปี โดยทายาทหรือผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีจากเงินได้ทั้งปี ทั้งนี้ เกณฑ์ในการยื่นแบบ ภงด. กองมรดกนั้น มีเงินได้ทั้งปี ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป

4.คณะบุคคล / ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล คณะบุคคล ถือเป็นอีก 1 หน่วยภาษี กล่าวคือ ไม่ถือเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ หากถือเป็นบุคคลในทางภาษี (โดยไม่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์แบ่งเป็นผลกำไรที่พึงได้จากกิจการที่กระทำร่วมกัน) ซึ่งมักจะเป็นช่องทางในการวางแผนภาษี คณะบุคคลจะคำนวณภาษีเงินได้เหมือนกับบุคคลธรรมดา และ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคณะบุคคล (คล้ายๆ กับค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท กรณีบุคคลธรรมดา) สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิได้จดทะเบียน ลักษณะจะคล้ายๆ กับคณะบุคคล โดยทั้งคณะบุคคล หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภงด.

ข้อมูลจาก k-expert และ กรมสรรพากร