วิธีการป้องกันตนเองจากมัลแวร์

วันที่ 26 มิถุนายน 2014
  4,309 views

เราอยากจะเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและไม่มีการหลอกลวง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชญากรออนไลน์และแฮ็กเกอร์หลบซ่อนอยู่ทุกที่ และพยายามที่จะก่อปัญหา การก่อปัญหาวิธีหนึ่งคือการแพร่กระจายมัลแวร์ คุณสามารถป้องกันตัวเองโดยการศึกษาว่ามัลแวร์คืออะไร วิธีการแพร่กระจาย และวิธีการป้องกัน

มัลแวร์คืออะไร

“มัลแวร์” หมายถึงซอฟต์แวร์ชนิดใดๆ ที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อทำอันตรายคอมพิวเตอร์ มัลแวร์สามารถขโมยข้อมูลสำคัญจากคอมพิวเตอร์ของคุณ และจะค่อยๆ ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานช้าลง หรือแม้กระทั่งส่งอีเมลปลอมจากบัญชีอีเมลของคุณโดยที่คุณไม่ทราบ ต่อไปนี้คือประเภทของมัลแวร์ที่พบบ่อย ซึ่งคุณน่าจะเคยได้ยินมาบ้าง:

  • ไวรัส: โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นอันตราย ซึ่งจำลองตัวเองและฝังตัวในคอมพิวเตอร์ได้
  • เวิร์ม: โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันตรายที่ส่งตัวจำลองที่สร้างขึ้นไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นโดยผ่านเครือข่าย
  • สปายแวร์: มัลแวร์ที่เก็บข้อมูลจากบุคคลอื่นโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
  • แอดแวร์: เป็นซอฟต์แวร์ที่เล่น แสดง หรือดาวน์โหลดโฆษณาบนคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ
  • ม้าโทรจัน: โปรแกรมทำลายล้างที่หลอกว่าเป็นแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วจะทำอันตรายกับคอมพิวเตอร์หรือขโมยข้อมูลของคุณหลังจากติดตั้ง

มัลแวร์แพร่กระจายอย่างไร

มัลแวร์เข้าสู่คอมพิวเตอร์ของคุณได้หลายวิธี ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่พบบ่อย:

  • การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ฟรีจากอินเทอร์เน็ตที่มีมัลแวร์แฝงอยู่
  • การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายที่แอบมีมัลแวร์ผูกติดมาด้วยในชุด
  • การเข้าชมเว็บไซต์ที่ติดมัลแวร์
  • การคลิกข้อความแสดงข้อผิดพลาดหรือหน้าต่างป๊อปอัปปลอม ซึ่งเป็นการเริ่มดาวน์โหลดมัลแวร์
  • การเปิดไฟล์แนบอีเมลที่มีมัลเแวร์
  • มัลแวร์มีวิธีแพร่กระจายที่แตกต่างกันมากมาย แต่คุณสามารถหยุดการแพร่กระจายนั้นได้ ตอนนี้คุณรู้แล้วว่ามัลแวร์คืออะไรและทำงานอย่างไร ต่อไปลองมาดูวิธีป้องกันตนเองที่ใช้การได้จริง

วิธีการป้องกันมัลแวร์

1. อัปเดตคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ของคุณอยู่เสมอ

Microsoft และ Apple จะมีโปรแกรมอัปเดตสำหรับระบบปฏิบัติการของตนออกมาอยู่บ่อยๆ และคุณควรติดตั้งโปรแกรมอัปเดตเหล่านี้ทันทีที่พร้อมใช้สำหรับเครื่อง Windows และ Mac ของคุณ โปรแกรมอัปเดตเหล่านี้มักจะรวมการแก้ไขที่ช่วยปรับปรุงความปลอดภัยให้กับระบบของคุณได้ นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการบางอย่างยังเสนอการอัปเดตแบบอัตโนมัติ เพื่อให้คุณสามารถอัปเดตได้แบบอัตโนมัติทันทีที่การอัปเดตพร้อมใช้งาน

ผู้ใช้ Windows สามารถติดตั้งโปรแกรมอัปเดตต่างๆ โดยใช้คุณลักษณะที่เรียกว่า “Windows Update” (การอัปเดต Windows) ขณะที่ผู้ใช้ Mac สามารถติดตั้งการอัปเดตต่างๆ ได้โดยใช้คุณลักษณะที่เรียกว่า “Software Update” (การอัปเดตซอฟต์แวร์)ถ้าคุณไม่คุ้นเคยกับคุณลักษณะเหล่านี้ เราขอสนับสนุนให้คุณค้นหาเว็บไซต์ของ Microsoft และ Apple เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีติดตั้งโปรแกรมอัปเดตระบบในคอมพิวเตอร์ของคุณ

นอกจากระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ก็ควรเป็นเวอร์ชันล่าสุดด้วยเช่นกัน ซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่มักมีการแก้ไขความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการติดมัลแวร์

2. ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้บัญชีที่ไม่ใช่บัญชีผู้ดูแลระบบ

ระบบปฏิบัติการส่วนใหญ่จะอนุญาตให้คุณสร้างบัญชีสำหรับผู้ใช้หลายคนในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้ใช้แต่ละคนสามารถตั้งค่าได้ต่างกัน และบัญชีผู้ใช้เหล่านี้ก็อาจมีการตั้งค่าความปลอดภัยแตกต่างกันด้วย

ยกตัวอย่างเช่นบัญชีของ “ผู้ดูแล” (หรือ “ผู้ดูแลระบบ”) มักสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ได้ ขณะที่บัญชี “แบบจำกัด” หรือ “มาตรฐาน” มักจะทำไม่ได้ ในการเรียกดูเว็บตามปกติในแต่ละวัน คุณอาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ดังนั้น เราจึงแนะนำให้คุณใช้บัญชีผู้ใช้ “แบบจำกัด” หรือ “มาตรฐาน” ถ้าทำได้ การทำเช่นนี้สามารถช่วยป้องกันการติดตั้งมัลแวร์บนคอมพิวเตอร์ของคุณและทำการเปลี่ยนแปลงที่มีผลทั้งระบบ

3. คิดให้ดีก่อนจะคลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดอะไรก็ตาม

ในโลกความจริง คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกลังเลใจที่จะเดินเข้าไปในตึกน่าสงสัยซึ่งมีป้ายเขียนว่า “คอมพิวเตอร์ฟรี!”พร้อมแสงไฟระยิบระยับ สำหรับบนเว็บ คุณก็ควรใช้ความระมัดระวังคล้ายกันนี้เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ที่ไม่คุ้นเคยที่อ้างว่าจะเสนอของฟรีทั้งหลาย

เรารู้ว่าคุณอาจห้ามใจไม่ได้ที่จะดาวน์โหลดโปรแกรมตัดต่อวิดีโอฟรี หรือเกมที่ผู้เล่นเลือกบทบาทได้ แต่คุณไว้ใจเว็บไซต์ที่นำเสนอสิ่งเหล่านั้นได้จริงหรือ บางครั้งวิธีที่ช่วยได้คือ การออกจากเว็บไซต์และค้นหาบทวิจารณ์หรือข้อมูลของเว็บหรือโปรแกรมนั้น ก่อนจะดาวน์โหลดหรือติดตั้งอะไรก็ตาม การดาวน์โหลดเป็นสาเหตุหลักข้อหนึ่งที่ทำให้ติดมัลแวร์ ดังนั้น อย่าลืมคิดให้ดีว่าคุณกำลังดาวน์โหลดอะไร และแหล่งที่คุณดาวน์โหลดนั้นมาจากที่ใด

4. คิดให้ดีก่อนที่จะเปิดไฟล์แนบอีเมลหรือรูปภาพ

ถ้ามีคนที่คุณไม่รู้จักส่งกล่องช็อกโกแลตให้คุณทางไปรษณีย์ คุณจะเปิดดูและกินโดยไม่รีรอเลยหรือเปล่า คงไม่ใช่แบบนั้น ในทำนองเดียวกัน คุณควรจะระวังถ้ามีคนที่คุณไม่รู้จักส่งอีเมลน่าสงสัยที่มีไฟล์แนบหรือรูปภาพ บางครั้ง อีเมลเหล่านั้นอาจเป็นแค่สแปม แต่หลายครั้งที่อีเมลเหล่านั้นอาจมีมัลแวร์ที่เป็นอันตรายแฝงตัวอยู่ ถ้าคุณใช้ Gmail ให้รายงานว่าอีเมลเหล่านั้นเป็นสแปม เพื่อให้เราสามารถกำจัดอีเมลดังกล่าวออกไปได้ดีขึ้นในอนาคต

5. อย่าเชื่อหน้าต่างป๊อปอัปที่ขอให้คุณดาวน์โหลดซอฟต์แวร์

เมื่อท่องเว็บ คุณอาจพบไซต์ที่แสดงหน้าต่างป๊อปอัปซึ่งทำให้คุณคิดว่าคอมพิวเตอร์ของคุณติดเชื้อไวรัสแล้ว และชวนให้คุณดาวน์โหลดซอฟต์แวร์บางตัวเพื่อป้องกันตัวเอง อย่าหลงกล คุณแค่ปิดหน้าต่างป๊อปอัป และอย่าคลิกภายในหน้าต่างป๊อปอัปนั้นเด็ดขาด

6. ให้ระมัดระวังเรื่องการแบ่งปันไฟล์

บางไซต์และแอปพลิเคชันอนุญาตให้คุณแบ่งปันไฟล์กับผู้ใช้คนอื่นได้อย่างง่ายดาย ไซต์และแอปพลิเคชันมากมายเหล่านี้แทบจะไม่มีการป้องกันมัลแวร์เลย คุณต้องระวังมัลแวร์ให้ดี ถ้าคุณแลกเปลี่ยนหรือดาวน์โหลดไฟล์เหล่านี้โดยใช้วิธีแบ่งปันไฟล์ มัลแวร์สามารถปลอมแปลงเป็นภาพยนตร์ อัลบั้ม เกม หรือโปรแกรมยอดนิยมได้

7. การใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส

ถ้าคุณต้องการดาวน์โหลดอะไรก็ตาม คุณควรใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสเพื่อสแกนหามัลแวร์ในสิ่งที่คุณดาวน์โหลด ก่อนที่จะเปิดดู และโปรแกรมป้องกันไวรัสยังให้คุณสามารถสแกนหามัลแวร์ในคอมพิวเตอร์ได้ทั้งเครื่อง นับเป็นวิธีที่ดีที่จะทำการสแกนคอมพิวเตอร์ของคุณเป็นประจำ เพื่อหามัลแวร์ให้เจอแต่เนิ่นๆ และป้องกันไม่ให้แพร่กระจาย

ที่มา: วิธีการป้องกันตนเองจากมัลแวร์